21 ก.พ. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังจาก ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขครั้งที่ 2/2567 มีมติเห็นชอบข้อเสนอ จัดทำโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลน จากสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) ร่วมกับสภาการพยาบาล ในการผลิตพยาบาลเพิ่มภายใน 10 ปี หรือจำนวน 10,000 คน เฉลี่ยปีละ 2,500 คน โดยเปิดโอกาสให้ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ มาศึกษาต่อในคณะพยาบาลศาสตร์อีก 2 ปีครึ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาพยาบาลขาดแคลน
หลักสูตรดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2568 และเป็นวิธีการเร่งรัดที่ได้มาตรฐาน ใช้เวลาศึกษาตลอดหลักสูตรรวม 2 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการขยายโอกาสและต่อยอดองค์ความรู้โดยการเปิดโอกาสให้ผู้จบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้สามารถสมัครเข้าเรียนในหลักสูตรดังกล่าว อย่างไรก็ตามในที่ประชุมดังกล่าวได้มีมติเห็นด้วยในหลักการ แต่ยังคงให้ข้อสังเกตเรื่องของกระบวนการผลิตหลักสูตรและการรับรอง ตลอดไปจนถึงเรื่องของงบประมาณ จึงมอบหมายให้สถาบันพระบรมราชชนก(สบช.) เป็นผู้ดูแลโครงการและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป
นพ.ชลน่าน กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตที่เจอคือ การขาดแคลนพยาบาลในการดูแลประชาชน โดยแพทย์ 1 คน ต้องมีพยาบาลอย่างน้อย 4 คน แต่พยาบาลภายในประเทศเฉพาะระบบของภาครัฐ พยาบาล 1 คน ดูแลประชาชนเฉลี่ย 343 คนและอาจสูงถึง 700 คนในบางพื้นที่ ซึ่งโดยภาพรวมทั้งประเทศแล้วประเทศไทยขาดแคลนพยาบาลอยู่ประมาณ 51,420 คน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลิตพยาบาลเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน แม้ที่ผ่านมาจะประสานงานกับภาคเอกชนที่ผลิตพยาบาลให้ผลักดันเข้าระบบสาธารณสุข แต่ก็ยังไม่เพียงพอ
ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2567 รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ นายกสภาการพยาบาล ให้สัมภาษณ์ที่สภาการพยาบาลถึงหลักสูตรดังกล่าวว่า สภาการพยาบาลในฐานะองค์กรวิชาชีพ ทำหน้าที่ควบคุมกำกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเพื่อคุ้มครองประชาชน สนับสนุนการผลิตพยาบาลอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และสำหรับการผลิตพยาบาลในระดับปริญญาตรี จะแบ่งออกเป็น 2 หลักสูตร คือ
ทั้งนี้ รศ.ดร.สุจิตรา ย้ำ! หลักสูตร 2 ปีครึ่ง ไม่แตกต่างจาก 4 ปี เพราะทั้งสองหลักสูตรต้องดำเนินงานตามมาตรฐานของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เหมือนกัน กล่าวคือ สถาบันการศึกษาที่จะเปิดหลักสูตรพยาบาล จะต้องนำเสนอหลักสูตรมายังสภาการพยาบาลเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน โดยสภาฯ จะดูหลักสูตรว่าต้องแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง มีจำนวนอาจารย์เท่าไร ซึ่งจะรับจำนวนนักศึกษาได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับจำนวนอาจารย์ เมื่อเห็นชอบแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการถัดไปคือ ขั้นอว.พิจารณา แล้วถึงจะส่งไปยังสภามหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาแห่งนั้นอนุมัติในการเปิด เรียกได้ว่าหลักสูตรพยาบาลที่จะเปิด สภาการพยาบาลได้ดูแลคุณภาพมาตรฐานถึง 3 ชั้นตอนในการคัดกรองมาตรฐาน ทั้งเกณฑ์มาตรฐานของ อว. วิชาชีพ และมหาวิทยาลัย พยาบาลปริญญาตรีที่จบออกมาไม่ว่าที่ไหนก็ต้องผ่านมาตรฐานนี้ทั้งสิ้น มากไปกว่านี้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์ จะต้องเข้ามาสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะทำเป็นระดับประเทศ คือจบมาสอบพร้อมกัน โดยในแต่ละรุ่นมีการสอบประมาณ 9,000 – 10,000 คน หลังสอบได้ใบประกอบวิชาชีพก็จะไปทำหน้าที่ผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล ในขั้นตอนการสอบดังกล่าวเพื่อให้ได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพนี้ก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนการรับประกันคุณภาพของผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล
Fact Note:
องค์การอนามัยโลกระบุสัดส่วนมาตรฐานพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรอยู่ที่ 1:270 ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 1:343
สรุป:
ขอขอบคุณ
ภาพ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จาก สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ภาพ รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ จาก Hfocus เจาะลึกระบบสาธารณสุข
บทความโดย กองบรรณาธิการ
2024-03-19 | 02:02:04