ฟาร์มมะเขือเทศออสเตรเลียใช้โดรนช่วยผสมเกสรแทนผึ้งตามธรรมชาติ แต่เทคโนโลยีอย่างโดรนจะทดแทนผึ้งได้จริงหรือ?
ในโรงเรือนกระจกสูงตระหง่านของฟาร์มมะเขือเทศที่ชื่อ Perfection Fresh ในเมือง Two Wells รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ทุกอย่างในโรงเรือนแห่งนี้ตั้งแต่อุณหภูมิไปจนถึงระดับรังสีอัลตราไวโอเลตถูกควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยเทคโนโลยี แม้วิธีดังกล่าวจะเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่การผสมเกสรก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้
ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้ใช้แรงงานคนที่เคลื่อนตัวไปตามแถวของต้นมะเขือเทศบนรถเข็น เคาะเชือกที่ผูกไว้กับโครงสร้างของลำต้นให้ต้นมะเขือเทศสั่นเบาๆ เพื่อให้ละอองเกสรตกลงบนยอดเกสรตัวเมียจนเกิดการผสมเกสร
“มันเป็นกระบวนการที่ยังต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก และมันเป็นเรื่องท้าทายมากที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้” Troy Topp ผู้จัดการทั่วไปของ Perfection Fresh กล่าว “แม้จะทำงานนี้มาแปดปีแล้ว ผมก็ยังวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการผสมเกสรไม่ได้”
มะเขือเทศเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สุดของโลก โดยมีการผลิตปีละประมาณ 190 ล้านตัน และปัจจุบันนิยมปลูกในสภาพแวดล้อมแบบปิดมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศัตรูพืช และปัญหาการขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูก
แต่การผสมเกสรในโรงเรือนแบบปิดนั้นยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากผึ้งไม่สามารถช่วยผสมเกสรได้ดีนักเมื่อเทียบกับสภาพแวดล้อมแบบเปิด นอกจากนี้วิธีเชิงกลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเขย่า การใช้แปรง หรือเครื่องเป่า ล้วนใช้แรงงานจำนวนมากและได้ผลลัพธ์ที่ไม่แน่นอน
นั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Perfection Fresh หนึ่งในผู้ผลิตมะเขือเทศรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างโดรน โดยอาศัยแรงลมจากใบพัดของโดรนช่วยเพิ่มการสั่นสะเทือนของส่วนสืบพันธุ์ของดอกไม้และกระจายเกสรออกไปจนทำให้เกิดการผสมเกสรและส่งผลให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น
“โดรนช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน และยังทำงานได้อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอมากกว่ามนุษย์ นอกจากนี้เรายังสามารถใช้โดรนในการพยากรณ์ผลผลิตและตรวจโรคของมะเขือเทศได้อีกด้วย” Troy Topp กล่าว
หรือโดรนอาจเป็นทางเลือกและทางรอดที่จะเข้ามาทดแทนผึ้งตามธรรมชาติ?
เมื่อธรรมชาติเสื่อมโทรมและหลายสายพันธุ์ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว นักวิจัยบางคนเริ่มพัฒนาเทคโนโลยี เช่น โดรน เพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างและปกป้องระบบอาหารโลก
เกษตรกรรมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้โดรนมากที่สุดในโลก การใช้โดรนในการผสมเกสรในโรงเรือนและในไร่นาเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชากรผึ้งลดลงจากภาวะโลกร้อน สารเคมีที่ใช้ในเกษตรกรรม การสูญเสียถิ่นที่อยู่ และผลกระทบอื่นๆ จากมนุษย์
“เราทำได้หลายอย่างด้วยเทคโนโลยี และโดรนก็เป็นทางเลือกที่มีศักยภาพที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการผสมเกสร” Dr. Katja Hogendoorn นักวิจัยจาก University of Adelaide ผู้ศึกษาเรื่องผึ้งพื้นเมืองและการผสมเกสรกล่าว พร้อมเตือนว่า “หากใช้โดรนอย่างแพร่หลาย อุตสาหกรรมเกษตรอาจกลับมาใช้ยาฆ่าแมลงอีกครั้ง” นั้นอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีโดรนได้มอบความรวดเร็ว ความแม่นยำ และความสะดวกสบายให้กับเกษตรกร และที่สำคัญที่เขาโดรนช่วยแก้ปัญหาต้นทุนแรงงานในการทำการเกษตรได้ เมื่อเกษตรมีต้นทุนต่ำลงจึงมีแนวโน้มสูงที่พวกเขาอาจตัดสินใจที่จะพ่นยาฆ่าแมลงมากขึ้นและบ่อยขึ้นก็ได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตามเทคโนโลยีโดรนอาจส่งผลดีนับร้อยอย่างต่อการทำการเกษตร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีไม่สามารถให้ผลประโยชน์อย่างหลากหลายได้แบบที่ระบบธรรมชาติสามารถทำได้ อย่างเช่นที่เคนยา ผึ้งน้ำผึ้งไม่เพียงแค่ช่วยผสมเกสรเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างรายได้เสริมจากการขายน้ำผึ้ง และช่วยป้องกันการบุกรุกของช้างที่อาจมาทำลายไร่นาของเกษตรกรได้ ซึ่งเกษตรกรท้องถิ่นที่ออสเตรเลียนิยมใช้แนว “รั้วผึ้ง” หรือก็คือการนำรังผึ้งแขวนไว้ตามแนวรั้วของไร่นาเพื่อใช้ผึ้งเป็นแนวป้องกันไม่ให้ช้างเข้ามารบกวนในพื้นที่ทำการเกษตร นั้นแสดงให้เห็นว่าระบบธรรมชาติถูกออกแบบมาให้มีประโยชน์มากกว่าหนึ่งมิติ ฉะนั้นแล้ว…
“โดรนไม่สามารถทำหน้าที่ทั้งหมดที่ผึ้งทำในธรรมชาติได้ พวกมันสู้ไม่ได้เลย” Newton Simiyu ผู้จัดการโครงการมูลนิธิ Born Free กล่าว
เกษตรแม่นยำ แนวทางการเกษตรสมัยใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม
แม้เทคโนโลยีอย่างโดรนจะให้ประโยชน์หลายมิติแบบระบบธรรมชาติไม่ได้ ถึงกระนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวสู่การเป็น “เกษตรแม่นยำ” คือการทำการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่สามารถควบคุมได้ เช่น โดรนและเครื่องมือที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ แนวโน้มเหล่านี้ล้วนได้รับแรงผลักดันจากการเปลี่ยนแปลงประชากร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
Siddharth Jadhav วิศวกรผู้วิจัยโดรนจากบริษัท Polybee ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “การใช้แรงลมจากโดรนในการผสมเกสรของพืช เป็นการประยุกต์ที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะกับพืชที่ผสมเกสรด้วยตัวเอง เช่น มะเขือเทศและสตรอว์เบอร์รี” นอกจากนี้เขายังทำการทดลองที่ประสบความสำเร็จในฟาร์มแนวตั้งของสิงคโปร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Hort Innovation จากออสเตรเลีย เพื่อให้บริษัท Polybee ทดลองใช้โดรนกับมะเขือเทศและสตรอว์เบอร์รี่ในโรงเรือนกระจกเป็นระยะเวลานานกว่าหนึ่งปี และแน่นอนว่าผลการทดลองยืนยันว่า “โดรนมีประสิทธิภาพในการผสมเกสรมะเขือเทศในโรงเรือนกระจกแบบปิด” นั้นทำให้ Brett Fifield ประธานเจ้าหน้าที่บริการของ Hort Innovation เตรียมที่จะสำรวจและลงทุนเพิ่มเติมเกี่ยวกับโดรนผสมเกสรต่อไปในอนาคต
การทดลองโดรนผสมเกสรของ Polybee ที่ฟาร์มมะเขือเทศ Perfection Fresh
หลังการทดลองที่ Perfection Fresh โดรนของ Polybee จำนวนสองตัวชื่อ “Maverick” และ “Goose” (ตามตัวละครในภาพยนตร์ Top Gun) ได้รับมอบหมายให้ดูแลแถวต้นมะเขือเทศจำนวน 10 แถว โดยแบตเตอรี่หนึ่งก้อนใช้งานได้ประมาณ 40 นาทีและทำงานได้มากถึง 2 แถว โดรนดังกล่าวมีขนาดประมาณ 38 เซนติเมตร (15 นิ้ว) ทำงานด้วยการบินโฉบเหนือต้นมะเขือเทศด้วยความเร็วคงที่ โดยเคลื่อนผ่านด้านหนึ่งของแถวไปกลับ ทำให้ละอองเกสรหลุดจากดอกไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอมากกว่าการใช้เครื่องเป่า การเขย่า หรือการเคาะด้วยแรงงานคน และนอกจากนี้ Troy Topp กล่าวว่า “การลดการสัมผัสของแรงงานกับต้นมะเขือเทศยังช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื่อของมะเขือเทศได้อีกด้วย”
แล้วโดรนจะเหมาะกับทุกคนจริงหรือ?
กว่า 1 ใน 3 ของการผลิตอาหารทั่วโลกขึ้นอยู่กับผึ้ง อย่างไรก็ตาม ประชากรผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่นๆ กำลังลดลงทั่วโลก จากภาวะโลกร้อนและผลกระทบอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้วิธีผสมเกสรด้วยโดรนจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกษตรกรและบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรเลือกใช้
นอกจาก Polybee ยังมีบริษัทอื่น เช่น Dropcopter จากแคลิฟอร์เนียที่ใช้โดรนโรยเกสรในไร่อัลมอนด์ แอปเปิล และเชอร์รี่ และหุ่นยนต์ผึ้งจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เลียนแบบการทำงานของผึ้งได้อย่างสมจริง
ที่ Perfection Fresh มีแผนใช้โดรนเพื่อการผสมเกสรอย่างเต็มรูปแบบ และนำกล้องความละเอียดสูงของโดรนมาใช้ในการเก็บข้อมูลสำหรับการคาดการณ์ผลผลิตโดยใช้ AI
แม้เทคโนโลยีนี้จะมีประโยชน์มาก แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากการใช้โดรนต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก
บทส่งท้าย
ในขณะที่ฟาร์มมะเขือเทศในออสเตรเลียเริ่มใช้โดรนแทนผึ้งในการผสมเกสร เพื่อตอบโจทย์การผลิตที่แม่นยำและแก้ปัญหาแรงงาน โลกกลับต้องเผชิญกับความจริงอันหนักอึ้งว่า ผึ้งและแมลงกำลังลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจจากภาวะโลกร้อนอันเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ และแม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวล้ำเพียงใด ระบบนิเวศตามธรรมชาติก็ยังมีบทบาทที่เทคโนโลยีไม่อาจทดแทนได้ ทั้งในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
ผม Tharnkub ในฐานะผู้เขียน จึงขอฝากคำถามไว้ให้ทุกท่านได้คิดต่อว่า...
แท้จริงแล้ว สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ คือการแก้ปัญหา หรือแค่หลีกเลี่ยงมันด้วยเครื่องจักรกันแน่?
ที่มาการพัฒนาโดรนช่วยผสมเกสร: Eco-Business
Tharnkub
2025-04-23 | 04:06:10