เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 67 ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการแถลงข่าว “อว. For Semiconductor” การเปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ครั้งแรกของประเทศไทย ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.
รมว. อว. กล่าวว่า กระทรวง อว. และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษากว่า 15 แห่งได้ร่วมมือกันดำเนินการภายใต้นโยบาย “อว. for Semiconductor” พัฒนาหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” จนเป็นผลสำเร็จ โดยมีหลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรกลางในรูปแบบแซนด์บอกซ์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย รวมถึงหลักสูตรในรูปแบบอื่นๆ เพื่อผลิตกำลังคนทักษะสูงตอบสนองอุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนทั่วโลก ขณะนี้มี 3 สถาบันอุดมศึกษาที่จะนำร่องจัดการเรียนการสอนด้านเซมิคอนดักเตอร์ ประกอบด้วย
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จะเริ่มนำร่องเปิดหลักสูตรแซนด์บอกซ์ “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” เป็นแห่งแรกในปีการศึกษา 2568 นี้ จากนั้นในปีการศึกษาถัดไปคาดว่าจะมีมหาวิทยาลัยใช้หลักสูตรแซนด์บอกซ์เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 มหาวิทยาลัย โดยตั้งเป้าผลิตวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้อย่างน้อย 1,500 คนต่อปี ซึ่ง สจล.มีความพร้อมอย่างมาก มีห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริง ด้วยความร่วมมือจากบริษัทเอกชนชั้นนำ และเนื่องจากเป็นหลักสูตรแซนด์บอกซ์ จึงสามารถเปิดโอกาสให้นักศึกษาปริญญาตรี ปีที่ 2 เปลี่ยนสาขาเข้ามาศึกษาได้ เพื่อเร่งรัดการผลิตกำลังคนที่ขาดแคลนให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้เรียนในชั้นปีที่ 4 จะสามารถเลือกฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ หรือเลือกเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็ได้ ซึ่งปัจจุบันหลักสูตรกลางมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศกว่า 12 แห่งแล้ว
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีกำหนดเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หลักสูตรนานาชาติ ในปีการศึกษา 2568 นี้เช่นกัน ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ที่มีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ มุ่งเน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI ชิบสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV chips) และอุปกรณ์โฟโตนิก (Photonic Devices) รับทั้งนิสิตไทยและนิสิตต่างชาติ โดยมีแผนจะพัฒนาเป็นหลักสูตรสองปริญญา (Double Degree) ร่วมกับ Lunghwa (หลงหัว) University ของไต้หวัน และมีการฝึกงานในสถานประกอบการชั้นนำของประเทศ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) กับหลักสูตรวิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้สามารถผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ได้อย่างเป็นปัจจุบัน เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง โดยมีความร่วมมือกับบริษัทเอกชนชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนมาก ซึ่งภาคเอกชนเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการตั้งแต่ต้นทาง โดยหลักสูตรนี้จะมีการรับนักศึกษาเข้าไปฝึกปฏิบัติจริงยาวนานถึง 1 ปี ทำให้บัณฑิตมีความพร้อมทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา มีการทำวิจัยโดยใช้โจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมทำให้งานวิจัยสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงและอาจารย์ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ up to date ในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ หลักสูตรยังมีความร่วมมือกับ Kyushu (คิวชู) Institute of Technology ของประเทศญี่ปุ่น และมีความร่วมมือกับบริษัทในประเทศสิงคโปร์ นักศึกษาสามารถเลือกไปฝึกงานในบริษัทที่ประเทศสิงคโปร์ได้ ซึ่งบัณฑิตที่จบจากหลักสูตรจะมีความเชี่ยวชาญในด้านการประกอบและทดสอบ IC ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ที่สำคัญ ได้งานทำ 100%
รมว. อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า
“การพัฒนาหลักสูตรแซนด์บอกซ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor & Advanced Electronics) เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานที่สำคัญทั้งในระยะกลางและระยะยาว ที่จะเห็นผลภายใน 2-4 ปี เพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบการผลิตกำลังคนเฉพาะทางทักษะสูงและเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลังจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ จะทยอยเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตเฉพาะทางสมรรถนะสูงให้มีปริมาณมากเพียงพอ รองรับความต้องการภายในประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ”
นี่คือสิ่งที่กระทรวง อว. และสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงภาคเอกชนของไทยได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนในวันนี้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ ที่สำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีกำลังคนทักษะสูงอย่างเพียงพอ และสามารถสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติมาลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือ High Technology ในประเทศได้
Fun Fact!!!
Semiconductor คือ อุปกรณ์สารกึ่งตัวนำขนาดเล็ก โดยปกติใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไอโครชิพ, ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ที่นำไปใช้ในงานอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทและเป็นส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ เช่น สมาร์ทโฟน รถยนต์สมัยใหม่ รวมถึงอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 67 สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.) มีวาระสำคัญคือการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์สำหรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ด้านศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ จะมีการพิจารณาอนุมัติข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ จำนวน 5 หลักสูตร ประกอบด้วย
- หลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์
- โครงการ K-Engineering WiL (Work-integrated Learning)
- หลักสูตรสาขาวิชาการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
- หลักสูตรสาขาวิทยาการขั้นสูงทางชีวการแพทย์และการสร้างสรรค์ธุรกิจสุขภาพ
- หลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง
โดยการประชุมครั้งนี้ ได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมพิจารณาข้อเสนอการจัดการศึกษาฉบับสมบูรณ์ด้วย และเมื่อมีการอนุมัติหลักสูตร สำนักปลัดกระทรวง อว.จะเร่งติดตามการทำงาน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดนวัตกรรมการอุดมศึกษาและสามารถตอบความต้องการพัฒนากำลังคนของประเทศได้อย่างทันท่วงที
ด้วยเหตุนี้ทำให้ปัจจุบันวิทยาลัยวิศวกรรมนานาชาติ จุฬาฯ (ISE) จึงมีหลักสูตรที่เปิดสอนรวมทั้งสิ้น 6 หลักสูตร คือ
- Automotive Design and Manufacturing Engineering (ADME)
- Aerospace Engineering (AERO)
- Information and Communication Engineering (ICE)
- Nano-Engineering (NANO)
- Robotics and Artificial Intelligence Engineering (Robotics AI)
- Semiconductor Engineering (SEMI)
โดยในหลักสูตรใหม่อย่าง Semiconductor Engineering (SEMI) จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี 131 หน่วยกิต จะได้เรียนรู้หลักพื้นฐานของฟิสิกส์เซมิคอนดักเตอร์, การออกแบบวงจรรวมที่มีความซับซ้อน และยังเปิดโอกาสให้นิสิตได้เลือกเรียนหลักสูตรเชิงลึกตามความสนใจของตัวเองได้ด้วย โดยจะเริ่มรับสมัครในรอบ Admission ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้
เกณฑ์การคัดเลือก
- GPAX คิดเป็น 7.5% (อยู่ ม.6 เด็กซิ่ว หรือเทียบเท่า หรือเกรด 12 หรือ Year 13)
- คะแนนทดสอบภาษาอังกฤษ คิดเป็น 20% โดยคิดจากคะแนนสอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- TOEFL (Internet-based) ไม่ต่ำกว่า 80 หรือ
- IELTS ไม่ต่ำกว่า 6.0 หรือ
- CU-TEP ไม่ต่ำกว่า 80 หรือ
- การทดสอบภาษาอังกฤษ Duolingo ไม่ต่ำกว่า 105
- คะแนนทดสอบคณิตศาสตร์ คิดเป็น 32.5% โดยคิดจากคะแนนสอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- SAT (Math) ไม่ต่ำกว่า 620 หรือ
- CU-AAT (Math) ไม่ต่ำกว่า 480 หรือ
- A Level (Mathematics) ไม่ต่ำกว่า B หรือ
- A Level (Mathematics) Predicted Grade ไม่ต่ำกว่า A หรือ
- IB (Mathematics) HL ไม่ต่ำกว่า 6 หรือ
- IB (Mathematics) HL Predicted Grade ไม่ต่ำกว่า 6 หรือ
- ACT (Math) ไม่ต่ำกว่า 26 หรือ
- AP Calculus (AB or BC) ไม่ต่ำกว่า 4
- คะแนนทดสอบวิทยาศาสตร์ คิดเป็น 40% โดยคิดจากคะแนนสอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- CU-ATS (Physics) ไม่ต่ำกว่า 400 หรือ
- A Level (Physics) ไม่ต่ำกว่า B หรือ
- A Level (Physics) Predicted Grade ไม่ต่ำกว่า A หรือ
- IB (Physics) HL ไม่ต่ำกว่า 6 หรือ
- IB (Physics) HL Predicted Grade ไม่ต่ำกว่า 6 หรือ
- ACT (Science) ไม่ต่ำกว่า 25 หรือ
- AP Physics (1 or C) ไม่ต่ำกว่า 4
กำหนดการรับสมัคร
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
เริ่มต้นที่ 25,500 บาท
ดูเล่มหลักสูตรได้ที่: https://ee.eng.chula.ac.th/wp-content/uploads/2024/10/SEMI-Curriculum.pdf
สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/EE.Chula
และ https://ee.eng.chula.ac.th/bachelor-of-engineering-in-semiconductor-engineering/
ภาพการแถลงข่าวและประชุมพิจารณาหลักสูตร: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ภาพกำหนดการรับสมัครและค่าธรรมเนียมการศึกษา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กองบรรณาธิการ
2024-10-13 | 23:55:50