เมื่อ "ขนม" กลายเป็นภัยเงียบ เจลลี่กัญชา กับความเสี่ยงที่คืบคลานเข้าสู่เยาวชนไทย
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ "กัญชา" ไม่ใช่สิ่งต้องห้ามอีกต่อไป ด้วยนโยบายปลดล็อกที่มุ่งหวังประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ แต่ท่ามกลางโอกาสใหม่นี้ กลับมี "ภัยเงียบ" ที่แฝงมาในรูปลักษณ์ที่น่ารักและเข้าถึงง่าย นั่นคือ "เจลลี่กัญชา" ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะเดียวกัน ด้วยรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ก็สร้างความสับสน ความเข้าใจผิด ตลอดจนก่อให้เกิดความกังวลอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนและผู้ปกครอง
แม้กฎหมายจะควบคุมปริมาณสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่ด้วยช่องโหว่ในการบังคับใช้และรูปลักษณ์ที่ชวนให้เข้าใจผิดว่าเป็นขนมหวานทั่วไปนั้น ทำให้เจลลี่กัญชากลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่หาซื้อง่าย พกพาสะดวก และที่สำคัญคือ ยากต่อการตรวจสอบจากผู้ปกครองหรือครูอาจารย์ ความเข้าใจผิดที่ว่าเจลลี่กัญชาปลอดภัยกว่าการเสพในรูปแบบอื่น รวมถึงอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์และเพื่อนฝูง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แพร่หลายอย่างรวดเร็วในหมู่นักเรียนนักศึกษา และเด็กเล็กที่ไร้ภูมิคุ้มกัน
เพราะเป็น “เจลลี่” จึงเข้าใจว่าปลอดภัย
เจลลี่กัญชามีรูปร่าง สีสัน และรสชาติที่หลากหลาย คล้ายขนมทั่วไป ทำให้เยาวชนไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่ปลอดภัยเท่ากับกัญชาในรูปแบบอื่น เช่น การสูบ อีกทั้งบรรจุภัณฑ์ของเจลลี่ยังพกพาง่ายและไม่เป็นที่สังเกต แตกต่างจากการสูบกัญชาที่อาจมีกลิ่นและควัน ทำให้ง่ายต่อการนำเข้ามาในสถานศึกษาหรือสถานที่ต่าง ๆ จนหาซื้อได้ง่าย และแม้จะผิดกฎหมายหากมี THC เกิน 0.2% แต่ช่องทางการจำหน่ายนั้นหลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (ร้านค้าที่ไม่ได้รับอนุญาต, ตลาดนัด, สถานบันเทิง) ซึ่งไม่ได้มีการตรวจสอบอายุผู้ซื้ออย่างเข้มงวด
เพราะรับรู้ข้อมูลที่ “ไม่ถูกต้อง”
เยาวชนจำนวนมากอาจเชื่อว่าการบริโภคเจลลี่กัญชาปลอดภัยกว่าการสูบ เพราะไม่มีควัน ไม่กระทบต่อปอดโดยตรง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากสาร THC ยังคงออกฤทธิ์และมีผลต่อสมองและระบบประสาทแม้จะอยู่ในรูปแบบเจลลี่ก็ตาม นอกจากนี้ยังพบว่าสินค้าประเภทเจลลี่ที่หาซื้อได้ง่ายในกลุ่มเยาวชนนั้น มักไม่ระบุปริมาณ THC ที่ชัดเจน หรือระบุข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่ทราบปริมาณที่ได้รับ และอาจบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปจนเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
เพราะเป็นวัยรุ่นจึงอยากรู้ อยากลอง เป็นเรื่อง “ธรรมดา”
ความอยากรู้อยากลองเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่ชอบทดลองสิ่งใหม่ ๆ และอยากเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน อิทธิพลของเพื่อนและโซเชียลมีเดีย การเห็นเพื่อนหรือคนรู้จักใช้ หรือการโฆษณาชวนเชื่อบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้เยาวชนเกิดความสนใจและอยากลอง ตลอดไปจนถึงปัญหาจากสถาบันครอบครัว ความเครียดและความกดดันจากการศึกษา ก็มีแนวโน้มให้เยาวชนบางคนอาจใช้กัญชาเป็นช่องทางในการหลีกหนีปัญหาได้เช่นกัน
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวไปข้างต้นนี้ทำให้เจลลี่กัญชาเป็นปัญหาซ้ำซากที่พบเห็นได้ในทุก ๆ ปี อย่างเช่นในปี 2568 ที่สื่อหลายสำนักประโคมข่าว “เด็กสาว 2 ขวบ กินเจลลี่กัญชา เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต!” เจลลี่ดังกล่าวชื่อ Stay Bears และเมื่อลองสืบค้นเพิ่มเติมพบว่ามีข่าวในลักษณะคล้ายกันนี้กระจายอยู่ตามช่วงเวลาต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังเคยออกประกาศ “เตือนเด็กไม่ควรกินเจลลี่ผสมกัญชา” ไว้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 จากกรณีพบเด็ก 4 ขวบถูกพาส่งโรงพยาบาล หลังกินเจลลี่ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่ลักลอบเข้ามาภายในประเทศ ชื่อ Trolli SOUR watermelon SHARKS ซึ่งเป็นอาหารที่ห้ามนำเข้า หากพบการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข สั่งการให้อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ กวาดล้างเจลลี่ผสมกัญชาผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหมดไป โดยให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างเต็มที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชาที่เอามาทำเป็นอาหาร ขนม เครื่องดื่ม หรืออื่น ๆ ที่มีสัดส่วนเกินสาร THC กว่ากฎหมายกำหนด หรือไม่แสดงฉลากก็จะมีโทษตามกฎหมายกำหนดเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อควบคุมการเข้าถึงกัญชาและปัญหาด้านสุขภาพของเยาวชน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎหมายกัญชีเสรี โดยกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2568 โดยการคุมเข้มช่อดอกกัญชาให้เป็นสมุนไพรควบคุม มุ่งเน้นให้ใช้ทางการแพทย์และต้องมีใบสั่งแพทย์ หรือได้รับคำแนะนำจากสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐเท่านั้น ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป ทำให้สถานะของกัญชาเป็นสมุนไพรที่มีการควบคุมตามกฎหมายที่กำหนด ทั้งการใช้ การโฆษณา และการจำหน่าย ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวนี้จึงอาจเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า “กัญชา” อาจจะกลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้งในอนาคต
แหล่งที่มาของข้อมูล
ประกาศเตือนจากอย.: อ่านเพิ่มเติมที่นี่
ความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎหมายกัญชา: อ่านเพิ่มเติมที่นี่
การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับขนมผสมกัญชาในปี 2568 (ตัวอย่าง)
Tharnkub
2025-07-08 | 03:56:49