6 เดือนเหลือ 1 วินาที รู้จักกับ "ฌอง แซ" สุดยอดซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากฝรั่งเศส!

พลังประมวลผลระดับ 28 เพตะฟลอปส์ ช่วยนักวิจัยฝรั่งเศสเร่งเครื่องปราบโควิด-19, ปั้น AI

 

รู้จักกับ "ฌอง แซ" สุดยอดซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากฝรั่งเศส!

ศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Centre for Scientific Research: CNRS) ของฝรั่งเศส เปิดตัว ฌอง แซ (Jean Zay) ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) รุ่น 4 ที่มาพร้อมกับความเร็วระดับ 28 เพตะฟลอปส์ (petaflops) หรือเท่ากับ 28 ล้านล้านล้านการคำนวณต่อวินาที ซึ่งช่วยคำนวณสิ่งที่มนุษย์ต้องใช้เวลาคิด 182 วันหรือประมาณ 6 เดือนให้เหลือเพียง 1 วินาที

 

ฌอง แซ ทำอะไรได้บ้าง?

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์อย่างฌอง แซ ที่มาพร้อมกับความเร็วมหาศาลนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อภารกิจสำคัญระดับโลกเลย ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการแพทย์อย่างการทำหน้าที่ช่วยนักวิจัยจำลองและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาวิธีรักษาโรคหรือวัคซีนชนิดใหม่, งานพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ สำหรับการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก และการหาทางรับมือกับภาวะโลกร้อน, งานสำรวจอวกาศหรือดาราศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากจักรวาล ไขปริศนาของดวงดาวและกาแล็กซี หรือแม้กระทั่งงานด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ณอง แซ ก็ยังทำหน้าที่เป็นสมองกลขนาดใหญ่ที่จะช่วยให้ AI ฉลาดและทำงานได้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าฌอง แซเป็นขุมพลังสำคัญที่ช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์ในการค้นคว้าและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ

 

เบื้องหลังความสำเร็จของ ฌอง แซ

ฌอง แซ เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์รุ่นที่ 4 ที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท HPE และดูแลโดยศูนย์วิจัย IDRIS ของฝรั่งเศส และความเร็วสูงสุดที่ 28 เพตะฟลอปส์ นั้นจัดเป็นความเร็วในอันดับที่ 10 เมื่อเทียบกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ 500 อันดับแรกของโลก นอกจากนี้ ฌอง แซยังเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของฝรั่งเศสที่รวมเอาการประมวลผลประสิทธิภาพสูง (High-Performance Computing - HPC) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นผลมาจากแผนระดับชาติของรัฐบาลฝรั่งเศสที่ต้องการนำ AI มาใช้เพื่อประโยชน์ของมนุษย์

 

สเปกสุดอลังการของ ฌอง แซ

คุณสมบัติ

รายละเอียด

ความเร็วสูงสุด

28 เพตะฟลอปส์ต่อวินาที

การประมวลผล

(computational cores)

86,344 คอร์

หน่วยประมวลผลกราฟิก

(GPU-based accelerators)

2,696 ตัว

การจัดเก็บข้อมูล

รับส่งข้อมูลได้เร็วถึงเกือบ 0.5 เทระไบต์ต่อวินาที (1 เทระไบต์ = 1,000 กิกะไบต์)

ขนาด (พื้นที่)

150 ตารางเมตร

น้ำหนัก

43 ตัน

(หรือเทียบกับรถยนต์ประมาณ 40 คัน)

นอกจากนี้ฌอง แซ ยังโดดเด่นในเรื่องการประหยัดพลังงานอีกด้วย โดยณอง แซใช้เทคโนโลยีระบายความร้อนด้วยน้ำอุ่น ซึ่งน้ำที่ระบายความร้อนออกมายังสามารถนำไปใช้ทำความร้อนให้กับอาคารของศูนย์วิจัย IDRIS และในอนาคตก็จะใช้กับอาคารของมหาวิทยาลัยปารีส-ซาเคลย์อีกด้วย ณอง แซ จึงไม่ใช่เป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่โดดเด่นเรื่องการประมวลผลเท่านั้นแต่ยังมีความสามารถอันน่าทึ่งที่จะนำพลังงานในทุกกระบวนการมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

อนาคตของซูเปอร์คอมพิวเตอร์

สถาปัตยกรรมของฌอง แซเป็นเหมือนต้นแบบของ "เครื่องระดับเอกซ์ซาฟลอปิก" (exaflopic machines) ในอนาคต ซึ่งจะมีความสามารถในการประมวลผล 1 ล้านล้านล้านการคำนวณต่อวินาที นั่นหมายความว่า ฌอง แซเป็นแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์แบบสำหรับนักวิจัยในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ต้องใช้การประมวลผลแบบขนานจำนวนมาก (massively parallel accelerated applications) เพื่อแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน หรือทำการจำลองข้อมูลต่างๆ โดยในปัจจุบันนี้ ฌอง แซได้ให้บริการนักวิจัยทั้งจากภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรมกว่า 1,600 คน ในโครงการวิจัยกว่า 600 โครงการ ทั้งในด้านการจำลองเชิงดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์

 

WbW: คำต่อคำ เติมความรู้ทางเทคโนโลยี

  1. Petaflops (เพตะฟลอปส์) คือ หน่วยวัดความเร็วในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ย่อมาจาก "Peta Floating-point Operations Per Second" (เพตะ-การดำเนินการจุดลอยตัวต่อวินาที) ซึ่งเป็นการนับจำนวนการคำนวณที่ซับซ้อน (เช่น การคำนวณทศนิยม) ที่คอมพิวเตอร์สามารถทำได้ใน 1 วินาที โดย Peta (เพตะ) คือคำอุปสรรคที่หมายถึง 1015 หรือ 1,000 ล้านล้าน (ล้านล้านล้าน) ดังนั้น 1 Petaflops จึงมีค่าเท่ากับ 1 ล้านล้านล้านการคำนวณต่อวินาที (1,000,000,000,000,000 การคำนวณ/วินาที)
  2. High-Performance Computing (HPC) (การประมวลผลประสิทธิภาพสูง) คือการนำเอาคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง (หรือหน่วยประมวลผลหลายๆ ตัว) มาทำงานร่วมกันแบบขนาน (parallel computing) เพื่อให้สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล หรืองานที่ซับซ้อนมากๆ ได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปหลายเท่าตัว มักใช้ในงานวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และการวิจัยที่ต้องการพลังคำนวณสูงมากๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำงานคนเดียวด้วยคอมพิวเตอร์หนึ่งตัวอาจใช้เวลานาน ในทางกลับกันหากใช้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องทำงานแบบต่อประสานกันก็จะทำงานได้เร็วขึ้นนั้นเอง
  3. Massively Parallel Accelerated Applications (แอปพลิเคชันเร่งความเร็วแบบขนานขนาดใหญ่) คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถทำงานพร้อมกันได้หลายๆ ส่วน (parallel) บนอุปกรณ์ที่ช่วยเร่งความเร็วการประมวลผล (accelerator) จำนวนมาก โดยเฉพาะ GPU (หน่วยประมวลผลกราฟิก) เพื่อให้งานที่ต้องใช้การคำนวณจำนวนมากและซับซ้อนมากๆ สามารถประมวลผลได้เร็วขึ้นอย่างก้าวกระโดด ยกตัวอย่างเช่น การระบายสีที่มีรายละเอียดเยอะมาก ต้องลงสีทีละจุดแตกต่างกัน หากคุณมีดินสอสีเพียงแท่งเดียวและไม่มีผู้ช่วยใดๆ ก็จะต้องใช้เวลานานมาก แต่หากมีดินสอสีพันเล่มและมีคนช่วยหนึ่งพันคน แบ่งกันรับหน้าที่คนละส่วนของภาพ งานก็เสร็จได้เร็วมากยิ่งขึ้นอย่างมหาศาล

 

แหล่งที่มา:

CNRS (Centre National de la Recherche Scientifique). (2020, October 13). Jean Zay, France's most powerful supercomputer for research. https://www.cnrs.fr/en/press/jean-zay-frances-most-powerful-supercomputer-research


Tharnkub

2025-05-28 | 22:27:45

28 พ.ค. 2568 Tharnkub
Back To Top